ความเป็นมา
-
ปี พ.ศ. 2537 หลักสูตร วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) เปิดรับนิสิตในปีแรก ภายใต้การบริหารจัดการของภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
- ปี พ.ศ. 2549 อาจารย์ในหลักสูตรได้ย้ายมาจัดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตพัทลุง และได้เปิดรับนิสิตหลักสูตร วท.บ.(เทคโนโลยีสารสนเทศ)เป็นครั้งแรก โดยมีทั้งนิสิตภาคปกติ และภาคสมทบ
- ปี พ.ศ.2552 คณะวิทยาศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานจากภาควิชาเป็นสาขาวิชา และได้แยกหลักสูตรทางด้านคอมพิวเตอร์ออกมาเป็นสาขาวิชาใหม่คือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
- สาขาวิชาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับบัณฑิตศึกษาคือ วท.ม.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) และได้รับนิสิตรุ่นแรกในภาคเรียนที่ 2 ปี พ.ศ. 2554
ปัจจุบัน สาขาวิขาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศรับผิดชอบการเรียนการสอน 3 หลักสูตรคือ
-
หลักสูตร วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงหลักสูตรตามรูปแบบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ. 1) สาขาคอมพิวเตอร์ รับนิสิตปีละ 50 คน
- หลักสูตร วท.บ.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560 ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงหลักสูตรตามรูปแบบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ. 1) สาขาคอมพิวเตอร์ รับนิสิตปีละ 40 คน
หลักสูตร วท.ม.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2559 เป็นหลักสูตรแผน ก.2 เปิดรับนิสิตภาคปกติและภาคพิเศษ กลุ่มละ 20 คน
ข้อมูลทั่วไป
สาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร และระดับบัณฑิตศึกษา 1 หลักสูตร ซึ่งเปิดรับนิสิตทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ ปัจจุบันสาขาวิชามีนิสิตประมาณ 150 คน คณาจารย์และนักวิชาชีพรวม 18 คน การเรียนการสอนจะเน้นที่นิสิตเป็นสำคัญ โดยทุกรายวิชาจะมีส่วนของกรณีศึกษาให้นิสิตได้ประยุกต์ความรู้ทางทฤษฏีเข้ากับปัญหาจริง ด้านอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน
นอกเหนือจากการใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของส่วนกลางมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์มีห้องจัดการเรียนการสอน 4 ห้องจำนวน 150 เครื่องสำหรับให้บริการการเรียนการสอนวิชาของสาขาวิชาฯ รวมถึงเปิดให้นิสิตใช้บริการในช่วงเวลาว่าง สำหรับการทำโครงงานวิจัยทางคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาฯ จัดเตรียมห้องสำหรับทำโครงงาน เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับให้นิสิตค้นคว้าและพัฒนาโปรแกรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำโครงงานวิจัย และมีห้องปฏิบัติการ iMac สำหรับนิสิตฝึกปฏิบัติการเฉพาะทาง
สาขาวิชาฯ ส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิชาชีพมีการพัฒนางานการเรียนการสอน และงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จึงได้สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลประจำห้องปฏิบัติงาน และเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วสำหรับการจัดเตรียมงานนอกเวลาปฏิบัติงาน รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์สมัยใหม่เช่น แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรองรับงานแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน
ด้านงานวิจัย
คณาจารย์ภายในสาขาวิชาฯ จะมีการบูรณาการงานวิจัยเข้ากับการเรียนการสอน เริ่มต้นการฝึกให้นิสิตค้นคว้าด้วยตนเองจากรายวิชาสัมมนา และมีการแนะนำการทำวิจัยในรูปแบบของรายวิชาโครงงานวิจัยทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงผลักดันให้นิสิตมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยของตนเองในเวทีระดับมหาวิทยาลัยหรือระดับชาติ
ด้านงานบริการวิชาการ
สาขาวิชาฯ มีการจัดโครงการเพื่อบริการวิชาการให้แก่นิสิต และบุคคลภายนอก การบริการวิชาการให้แก่นิสิต เพื่อเป็นส่วนเสริมให้นิสิตได้รับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เตรียมการให้นิสิตออกสู่โลกของงานอาชีพหรือประชาคมอาเซียน โครงการบริการวิชาการแก่บุคคลภายนอกจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลที่สนใจ เช่น การจัดอบรมโปรแกรมต่าง ๆ การจัดค่ายคอมพิวเตอร์ หรือการประกวดโครงงานทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น